ไปยังรายการบทความ

การร่วมพัฒนา Neon และ Zeri

แชร์:

เราเคยพูดเกี่ยวกับหัวข้อเรื่อง เราออกแบบเอเจนท์กันอย่างไร มาแล้ว นอกจากนั้นเราก็พูดเรื่อง การสร้างแชมเปี้ยนสำหรับ League ค่อนข้างที่จะบ่อย ในครั้งนี้เราอยากที่จะมาแบ่งปันเกี่ยวกับกระบวนการสร้าง Neon เพราะว่ามันค่อนข้างแตกต่างไปจากกระบวนการปกติของเราเล็กน้อย แต่ก่อนอื่นมาฟื้นความจำกันหน่อยดีกว่า

เราออกแบบเอเจนท์ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า DNA นักออกแบบเกม (game Designer) นักเขียนเรื่องราว (Narrative writer) และศิลปินคอนเซปต์ (concept Artist) จะถูกวางตัวในการสร้างเอเจนท์ใหม่ และในช่วงเริ่มต้นนั้น เราก็ยังมีเพียงแค่ความคิดตั้งต้นเท่านั้น เช่น ดีไซน์ เนื้อเรื่อง หรือเป้าหมายในการเพิ่มความแปลกใหม่ นี่อาจจะหมายถึงความคิดอยากสร้าง Radiant คนใหม่ หรืออยากเพิ่ม Duelist สักคน หรืออยากที่จะสำรวจพื้นที่ใหม่ ๆ ในโลกโดยการสร้างตัวละครที่มีถิ่นกำเนิดมาจากที่นั่น

จากจุดนั้น ทีมหลัก (เพราะยังมีคนเบื้องหลังอีกมากนอกเหนือจากทีม DNA) จะมานั่งระดมความคิดกัน... อย่างหนักหน่วง พวกเขาจะเสนอไอเดีย สร้างต้นแบบในกระดาษ เขียนประวัติแบบคร่าว ๆ และวาดภาพคอนเซปต์ขึ้นมาหลาย ๆ แบบ

และเมื่อกระบวนการดำเนินไปเรื่อย ๆ ในที่สุดเราก็จะได้ตัวละครที่มีความเป็นเอกลักษณ์ มีความเข้ากับตัวเกม และนำบางสิ่งที่น่าตื่นเต้นมาสู่รายชื่อเอเจนท์ของเรา หลังจากนั้นก็ ตู้ม! เราก็จะมีไฟล์ 500 ไฟล์ที่ชื่อ "สุดท้ายแล้ว สุดท้ายจริง ๆ ซักทีเถอะ" ชุดแอนิเมชันกว่าร้อยแบบ ตัวแบบจำลองที่บิดเบี้ยวได้อย่างไม่น่าเชื่อ เสียงเอฟเฟกต์ที่เล่นออกมามั่ว ๆ และเดี๋ยวก่อนนะ แล้วทำไมหน้าของตัวละครถึงไปโผล่ตรงมือได้... โอ้ ในที่สุดเราก็ได้เอเจนท์คนใหม่!

หลังจากปล่อยตัวไป เหล่านักออกแบบก็จะโผล่มาให้เต็ม Reddit Twitter คับคั่งไปด้วยภาพแฟนอาร์ตมากมาย และทุก ๆ คนก็พิมพ์ด่าพนักงาน Riot ในช่องแชทในเกมกันให้จ้าละหวั่น

แต่ว่าเรื่องราวของ Neon ไม่เป็นเช่นนั้น

ฟังนะ เราได้เข้าไปในโลกอินเทอร์เน็ต เราได้เห็นทฤษฎีต่าง ๆ และภาพเปรียบเทียบระหว่าง Neon และ Zeri แชมเปี้ยนใหม่ใน League และขอบอกไว้เลยเพื่อความกระจ่าง: ไม่ใช่ พวกเธอไม่ใช่คนเดียวกัน ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน แต่พวกเธอทั้งสองถูกสร้างร่วมกันโดยทีม League และทีม VALORANT

“แล้วมันเกิดขึ้นได้ยังไง?” คุณถาม ก็แบบที่หลาย ๆ อย่างเกิดขึ้นมาได้ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาเอเจนท์ John “Riot MEMEMEMEME” Goscicki และหัวหน้าฝ่ายพัฒนาแชมเปี้ยนของ League Ryan “Reav3” Mireles นั้นได้มาสุมหัวกัน

011422_NeonChampionInsights_Sprint.jpg

เล่นสนุกกันนิดหน่อยแล้วก็กลายเป็นสร้างตัวละครร่วมกัน

Mireles ย้อนให้ฟังว่า “เมื่อนานมาแล้ว ในขณะที่เรากำลังระดมความคิดว่าเราจะทำอะไรต้อนรับการปล่อยตัว Arcane (ซีรีส์แอนิเมชันใหม่ของ League บน Netflix—อย่าลืมไปดูล่ะ) อีเวนต์นี้ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับเราทุกคนที่ Riot ดังนั้นผมจึงส่งข้อความไปหา Goscicki เพื่อถามว่าเขาอยากจะปล่อยแชมเปี้ยนและเอเจนท์พร้อมกันไหมในช่วงของอีเวนต์”

“มันเป็นความคิดที่เข้าท่า ทีมเอเจนท์หลาย ๆ คนของ VALORANT ก็เคยทำงานในทีมแชมเปี้ยนมาก่อน ซึ่งรวมถึงตัว Goscicki ด้วย เพราะแบบนั้นเราจึงมีกระบวนการในการสร้างคล้าย ๆกัน และผู้เล่นเกมของ Riot หลายคนก็เล่นทั้ง League และ VALORANT ดังนั้นเราจึงคิดว่ามันคงจะเท่น่าดูหากพวกเขาได้มีโอกาสเล่นสองตัวละครนี้ในทั้งสองเกม” Mireles กล่าว

“ผมยังจำได้อยู่เลยว่าก่อนที่จะมีหัวข้อเรื่องนี้ขึ้นมาซะอีก นายกับฉันก็เคยส่งข้อความหากันแล้วบอกว่า ‘วันหนึ่งเราจะปล่อยตัวละครด้วยกัน วันหนึ่งเราจะมาทำงานร่วมกัน และมันจะต้องเจ๋งเป้งแน่ ๆ’” Goscicki พูดพร้อมหัวเราะ “และเมื่อเวลานี้มาถึง เราก็แบบ... ‘ถึงเวลาแล้วจริง ๆ ใช่มั๊ย???’ และใช่ มันมาถึงแล้ว”

แต่ก่อนที่เราจะได้เริ่ม ทางทีมต้องตัดสินใจก่อนว่าสิ่งที่เราจะสร้างคืออะไรกันแน่

League และ VALORANT คือเกมที่แตกต่างกันในประเภทที่ต่างกันมาก ๆ แน่นอนแหละ ว่าทั้งสองเกมคือเกมแข่งขันออนไลน์แบบหลายคนที่ถูกพัฒนาโดยบริษัทเกมอินดี้เล็ก ๆ ที่ชอบเนิร์ฟตัวเมนของคุณเหลือเกิน แต่ League นั้นอยู่ในโลกแฟนตาซีที่แชมเปี้ยนใช้สกิลในการสังหารกัน ในขณะที่ VALORANT การยิงเป็นส่วนหลักและเราไม่เน้นใช้สกิลสังหารอีกฝ่าย (อะแฮ่ม ๆ) สกิลต่าง ๆ นั้นมีไว้ใช้เสริมสร้างโอกาสในการยิง

ซึ่งหมายความว่า Mireles และ Goscicki จำเป็นที่จะต้องวางแผนเค้าโครงนิดหน่อยก่อนที่จะเริ่มกระบวนการพัฒนา

“ถ้าเป็นในตอนที่แต่ละทีมเริ่มสร้างตัวละครของตัวเอง โดยมากแล้วเราจะค่อนข้างเข้าใจเป้าหมายในการพัฒนาครั้งนั้นได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อเป็น Zeri และ Neon แบบว่า... เรายังไม่เห็นภาพนั้นสักเท่าไหร่” Mireles กล่าว

“สำหรับ League เรามีเป้าหมาย ของความหลากหลายในเรื่องของตำแหน่ง ภูมิภาค เพศ และสไตล์การเล่นวางไว้ VALORANT ก็มีเช่นเดียวกัน แต่มันต่างกับสิ่งที่เราทำสำหรับ League มาก ดังนั้นเราจึงต้องแน่ใจว่าเราหาจุดกึ่งกลางที่พอดีสำหรับทั้งสองเกมได้ และผู้เล่นก็ตื่นเต้นไปกับมัน เพราะถ้าไม่มีใครอยากที่จะเล่นตัวละครเหล่านี้ มันจะไปมีความหมายอะไร? Mireles ถามกลับ

หมายความว่าตัวละครเหล่านี้ต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง แน่นอนว่าพวกเราหลาย ๆ คนเล่นทั้งสองเกม แต่ส่วนมากก็จะมีเกมหลักที่เล่นมากกว่า แม้ว่าการเพิ่มพ่อหนุ่มใบ้หน้าใสซึ่งสังหารผู้คนด้วยอาวุธจันทราที่สร้างขึ้นจากพี่สาวฝาแฝดซึ่งอยู่นอกโลกเข้ามาใน VALORANT เพียงเพราะใน League มีชายชื่อ Aphelios อยู่ก็อาจจะเป็นความคิดที่น่าสนุก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นผลดี

พูดถึงเพื่อนเก่าและความตั้งใจดีไปแล้วก็เยอะ... แล้วการออกแบบแชมเปี้ยนและเอเจนท์ร่วมกันนี่มันต้องทำบ้ายังไงล่ะเนี่ย? คำตอบนั้นง่ายจนน่าตกใจ: รวมทีมกันไงล่ะ

สายฟ้าสามารถฟาดซ้ำได้

“ผมเป็นแฟนตัวยงของ VALORANT ตอนที่เกมถูกปล่อยตัวครั้งแรก ผมพูดกับเพื่อนนักออกแบบภายในทีมหลายคนว่า ‘รู้ไหม ผมอยากที่จะมีโอกาสได้ลองสร้างเอเจนท์ในอนาคต...’ และเมื่อพวกเขาบอกเกี่ยวกับโอกาสในครั้งนี้ให้เราฟัง ผมก็กระโจนเข้าไปหาเลย ” นักออกแบบเกม August “August” Browning กล่าวพร้อมหัวเราะ “การสร้างตัวละครสองตัวร่วมกันหมายความว่าเราจะต้องพบเจอข้อจำกัดใหม่ ๆ หลายอย่าง ซึ่งในฐานะนักออกแบบก็เป็นเรื่องที่สนุกและน่าตื่นเต้น เราจำเป็นต้องหาต้นตอพลังงานร่วมของตัวละคร แต่ต้องเป็นสิ่งที่ใช้ได้ทั้งใน League และ VALORANT เราจำเป็นต้องคิดเรื่องบุคลิกนิสัยของพวกเขาว่าจะคล้ายกันหรือต่างกันไปเลย และส่วนประกอบอีกมากมาย... มีคำถามมากมายที่ต้องการคำตอบ”

มาเริ่มที่ต้นตอพลังงานกันก่อน

League คือโลกที่มีความเป็นไปได้ไม่รู้จบเมื่อพูดถึงต้นตอของพลังของแชมเปี้ยน มีทั้ง มังกรอวกาศผู้สร้างจักรวาล, ตุ๊กตาถือกรรไกรเวทมนตร์ และภูเขาตัวเป็น ๆ (ซึ่งมีสกิลอัลติเมทที่ทำให้พุ่งได้อย่างรวดเร็ว—อย่าถามเหตุผลเลย) กลับกัน VALORANT มีสองแบบ: เทคโนโลยีและ Radiant

Raze ขว้างระเบิด Killjoy ใช้หุ่นยนตร์ Cypher คือจ้าวแกดเจ็ตนักสอดส่อง Phoenix โยนระเบิดเพลิง Jett ใช้พลังลม และ Sage คืนชีพให้กับพันธมิตรของเธอต่อหน้าศัตรูที่ถือ Op รออยู่ ดังนั้นทางทีมจึงได้มาระดมความคิดสำหรับต้นตอพลังงานร่วมที่ใช้ได้ในทั้งสองเกม

011422_NeonChampionInsights_Run.png

ระหว่างกำลังระดมความคิดกันอยู่ เหล่าศิลปินคอนเซปต์ Konstantin “Zoonoid” Maystrenko, Nancy “Riot Sojyoo” Kim และ Gem “Lonewingy” Lim ก็ได้พูดถึงลักษณะร่วมระหว่าง League และ VALORANT สิ่งแรกคือความเร็ว

VALORANT ให้รางวัลคุณเมื่อเคลื่อนไหวโยกย้ายในแผนที่ได้ดี ทำการซุ่มยิงจากระยะไกล ลอบตะหลบหลังสำเร็จ หรือโยนระเบิดแฟลชใส่เพื่อนทั้งทีมขณะบุกเข้าทำ ในขณะที่ League ก็เป็นเรื่องของ การวิ่งไปแจกที่เลนกลาง การเตรียมพร้อม เทเลพอร์ตตลบหลัง เพื่อให้เลนบนที่เกิดของคุณแยกดันในขณะที่ก๊วนที่เหลือรวมตัวที่เลนกลาง และแม้ว่าจะมีเอเจนท์หลายคนที่มีทักษะในการเคลื่อนที่ (เนิร์ฟ Jett เถอะ) แต่ไม่มีใครที่เป็นตัวแทนของความเร็วจริง ๆ

“การเข้าถึงพลังในการเพิ่มความเร็วได้อย่างต่อเนื่องของ Neon ทำให้เธอเป็นเอเจนท์ที่เคลื่อนที่ได้รวดเร็วที่สุดใน VALORANT” นักออกแบบเกม Ryan “rycou” Cousart อธิบาย “เธอได้พังทลายสิ่งที่เรารู้ทั้งหมดเกี่ยวกับความเร็วและทักษะการเคลื่อนที่ภายในเกม และจะส่งผลทดสอบการตัดสินใจแต่ละจังหวะของผู้เล่น Duelist อย่างที่สุด ความเสี่ยงที่ยิ่งใหญ่มาพร้อมรางวัลที่แสนจี๊ด” :) LOL (Cousart เป็นคนคะยั้นคะยอให้ใส่มา)

แต่ “การเคลื่อนที่รวดเร็ว” ไม่ใช่ต้นตอพลังงาน แน่นอนว่าการวิ่งวนรอบทีมศัตรูก็สนุกดี แต่นอกจาก “วิ่งได้เร็วสุด ๆ” พวกเธอสามารถทำอะไรได้อีก? ดังนั้นทีมจึงถอยกลับมาหนึ่งก้าวเพื่อหาต้นตอพลังงาน บางสิ่งที่อธิบายได้ว่าทำไม Neon และ Zeri ถึงได้รวดเร็ว

“สุดท้ายเราก็มาจบที่ไอเดียของไฟฟ้า ซึ่งก็ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องความเร็ว” Lim กล่าว “นอกจากนั้นมันก็ยังผูกโยงเข้ากับสถานที่ที่เราอยากให้เป็นถิ่นกำเนิดของตัวละครทั้งสองนี้ในโลกความเป็นจริงอย่าง ฟิลิปปินส์ ฉันเกิดในเมืองมะนิลา และเราก็มีแผนจะสร้างตัวละครเชื้อสายฟิลิปปินส์อยู่แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับฉันเป็นอย่างมาก ในมะนิลา เราประสบปัญหาไฟดับเป็นประจำ รวมถึงปัญหาเรื่องไฟฟ้าทั่ว ๆ ไปก็ด้วย การได้อาศัยอยู่ที่นั่นถือเป็นประสบการณ์ที่ค่อนข้างน่าจดจำ”

011422_NeonChampionInsights_Portraits.png

แผ่นปิดแผลรูปขั้วลบของ Neon และแผ่นปิดแผลขั้วบวกของ Zeri ถูกเพิ่มเข้ามาเพื่อสื่อถึงธีมเรื่อง “ขั้วตรงข้าม”

นอกจากนี้ ไฟฟ้ายังลงล็อกกับสิ่งที่ตัวละครทั้งสองเป็น

“เราเลือกใช้เรื่องแนวคิดของขั้วบวกและขั้วลบ เมื่อได้เห็นภาพคอนเซปต์เกี่ยวกับไฟฟ้า ทั้ง Neon และ Zeri ต่างมีความรู้สึกอยากต่อสู้เพื่อผู้คนของพวกเธอ แต่เราก็อยากให้พวกเธอดูเป็นส่วนหนึ่งในนั้นด้วย” นักเขียนเรื่องราว Michael “SkiptoMyLuo” Luo อธิบาย

“Neon เป็นขั้วลบและ Zeri เป็นขั้วบวก Neon นั้นขี้จุกจิกและดูระแวดระวังกว่า—เป็นคนตรง ๆ ชอบเหน็บแนมและจิกกัด ดูเหมือนว่าเธอจะเป็นพวกไม่สนใจในคนอื่น แต่ลึก ๆ แล้วเธอนั้นห่วงใยและอยากที่จะทำสิ่งที่ถูกต้องเสมอ เมื่อเทียบกับบุคลิกอบอุ่น สดใส—แต่ยังมีความดื้อรั้นและใจร้อนในบางครั้งของ Zeri เรารู้สึกว่ามันน่าจะเป็นวิธีที่น่าสนใจในการผูกธีมไฟฟ้าที่สร้างตัวตนของพวกเธอเข้าด้วยกัน” Luo เสริม

011422_NeonChampionInsights_Expression.png

ทั้ง Neon และ Zeri ต่างมาจากครอบครัวและสภาพแวดล้อมขนาดใหญ่ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราได้รับแรงบันดาลใจจาก “จิตวิญญาณแห่ง Bayanihan” ในวัฒนธรรมฟิลิปปินส์ แต่สิ่งที่ต่างกันคือการตอบรับแนวคิดในสิ่งนี้ของทั้งสอง

“Neon มาจากครอบครัวใหญ่ใจกลางมะนิลา” นักเขียนเรื่องราว Joe “Riot ParmCheesy” Killeen อธิบาย “แตกต่างจาก Zeri ผู้ที่อ้าแขนโอบรับความรักและแรงสนับสนุนจากครอบครัว Neon นั้นรู้สึกว่าเธอถูกกดทับจากมัน เธอยังคงรักพวกเขาและมีความคิดในการตอบแทนและทำหน้าที่แก่ชุมชนของเธอ แต่เธอไม่ได้โอบรับมันขนาดนั้น ก็แค่การตอบสนองที่ต่างกันภายในสภาพแวดล้อมที่คล้ายกัน ซึ่งเราคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ลงไปสำรวจในระหว่างที่ลงมือสร้างตัวละครทั้งสอง”

“ทำไมไม่ได้ล่ะ?”

ถึงจะเป็นการรวมทีมกันเพื่อสร้างตัวละคร เราก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทาย และแม้ว่าเราจะอยู่ในบริษัทเดียวกัน แต่นี่ก็คือสองเกมที่ต่างกันสุด ๆ

“August นั้นมี... ไอเดียน่าสนใจเกี่ยวกับเกมเพลย์ในช่วงเริ่มแรกของการพัฒนา” Cousart กล่าวพร้อมหัวเราะ “เรารู้แล้วว่าเราจะเน้นเรื่องความเร็ว เขาเลยเสนอไอเดียที่ว่า Neon จะสามารถใช้งานสกิลวิ่งของเธอได้ตลอดเวลา แบบไม่มีคูลดาวน์

ความเร็วคือหนึ่งในสิ่งที่เราใช้สร้างระดับในการเรียนรู้ใน VALORANT ผู้เล่นมืออาชีพและผู้เล่นระดับสูงสามารถบอกเวลาเป๊ะ ๆ ในการเคลื่อนย้ายจากไซต์หนึ่งไปอีกไซต์หนึ่งได้เลย ดังนั้นไอเดียที่จะพังสิ่งนั้นลงไปทำให้เราฝันผวาเลยล่ะ” เขากล่าวต่อ

011422_NeonChampionInsights_KeyArt.png

“สาเหตุที่ผมมอบนิ้วดัชนีให้กับ Neon ก็เพราะ August อยากที่จะให้ Zeri มีความเกี่ยวโยงกับสไตล์การใช้ปืนใน VALORANT ดังนั้นผมจึงลองสร้างให้ Neon ไม่ใช้ปืน” Cousart กล่าว

อีกหนึ่งไอเดียช่วงเริ่มต้นของ Neon คือมือพิฆาตนัดเดียวตายที่แม่นยำสุด ๆ แม้ใช้ตอนวิ่งและยังรีเซ็ตได้ด้วย (เห็นงี้ได้โปรดอย่าบ่นเรื่อง OP เลย) แม้ว่าไอเดียนี้จะถือเป็นเอกลักษณ์ใหม่สำหรับเอเจนท์คนนึง แต่มันมากเกินไป ดังนั้นทางทีมจึงนำมันออกและเพิ่มดีไซน์ที่มีข้อจำกัดอื่นเข้าไปแทน: ไม่นัดเดียวตาย ได้เลย สกิลวิ่งมีคูลดาวน์ล่ะ? เอ่ออ... เกี่ยวกับเรื่องนั้น

สิ่งที่เป็นจุดเด่นของ Neon คือการวิ่งอย่างว่องไวและยิงสายฟ้าใส่คนอื่น ๆ ไปพร้อมกัน และการจำกัดการเข้าถึงทักษะความเร็วของเธอก็ทำให้เธอไม่น่าดึงดูดเท่าไหร่ นั่นหมายความว่า August และ Cousart ต้องถามคำถามแสนยากเย็นกับตัวพวกเขาเอง: มันคุ้มค่าที่จะลองท้าทายสิ่งที่เราเคยรู้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวใน VALORANT หรือเปล่า?

“เราตัดสินใจที่จะมอบการเข้าถึงความเร็วแบบตลอดเวลาและไม่มีคูลดาวน์ให้กับ Neon” August กล่าว “แทนที่จะให้เป็นคูลดาวน์ เราจะทำการจำกัดความแข็งแกร่งส่วนนี้ด้วยวิธีอื่น อย่างการทำให้เธอหยิบปืนขึ้นมาไม่ได้และไม่สามารถแอบออกไปยิงและกลับเข้ามาหลบได้อย่างรวดเร็ว หมายความว่าคุณต้องพบความเสี่ยงเมื่อเลือกใช้ความเร็วของเธอ การวิ่งจ้ำอ้าวแบบเร็วกว่านั่นแหละพูดง่าย ๆ เราแค่รู้สึกว่าโดยรวมแล้ววิธีนี้เข้าท่ากว่ากับจุดเด่นของเธอในการวิ่งได้อย่างรวดเร็วในช่วงระยะเวลาหนึ่ง”

“สิ่งที่ August ได้เข้ามาช่วยจริง ๆ คือเรื่องแนวคิดการท้าทายวิธีสร้างเอเจนท์ใหม่ ๆ ของเรา ไม่ใช่แค่ Neon” Cousart กล่าว “ทุก ๆ ครั้งที่เราเจอกับข้อจำกัดที่เราวางไว้สำหรับดีไซน์ของ VALORANT เขาก็จะถามมาแค่ว่า ‘ทำไมไม่ได้ล่ะ? ทำไมเราทำแบบนี้ไม่ได้?’ มันช่วยสอนเราหลายอย่างมาก ๆ: แน่นอนว่าสอนว่าทำไม VALORANT ถึงต่างจาก League  แต่ก็ช่วยให้เราเรียนรู้ว่าความคล้ายนั้นมันอยู่ตรงไหนบ้างด้วย 

Cousart พูดต่อ “ผมไม่ได้บอกว่าทุกข้อจำกัดจำเป็นต้องถูกทำลาย แต่มันสอนให้เรารู้ว่าเราควรลองทดสอบขีดจำกัดเดิมของเราเองเสียก่อนที่จะไปลองสิ่งใหม่เลย นี่ทำให้เราได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเกมของเรา และเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับดีไซน์เอเจนท์ของเราในอนาคตด้วย”

แต่ไม่ต้องเป็นกังวลไป หากคุณเกิดกังวลว่าสิ่งนี้จะส่งผลอย่างไรต่อเอเจนท์คนถัดไป ขอให้วางใจได้ เพราะเอเจนท์ลำดับถัดไปของเราจะไม่ใช่ Duelist อย่างแน่นอน

พวกเราคือกำลังรอ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง