ต้นกำเนิดเอเจนท์: Phoenix
ไม่มีตำแหน่งตายตัว ไม่มีแฟลช ท่าพุ่งตัวไปข้างหน้า และการชุบชีวิตตัวเองพร้อมเป็นอมตะชั่วขณะ ย้อนไปเมื่อปี 2017Phoenix (และ VALORANT) นั้นดูต่างออกไปอย่างมาก แล้วพ่อหนุ่มจอมคลั่งแห่งสหราชอาณาจักรคนโปรดของทุกคน ๆ กลายมาเป็นจอมเปิดไฟต์สุดเฟี้ยวในวันนี้ได้อย่างไรกัน? มันมีเรื่องที่ต้องทำเยอะไปหมดเลย
นี่จะเป็นจุดกำเนิดของ Phoenix Duelist รุ่นดั้งเดิมของ VALORANT
ประกายแนวคิดแรก
เมื่อหลาย ๆ คนคิดถึง Phoenix พวกเขาก็จะคิดถึง Duelist/Initiator ที่มีความดุดันสุด ๆ โดยมีเป้าหมายในการเคลียร์ไซต์ด้วยฝีมืออันแพรวพราว... พร้อมกับความมั่นในตัวอีกนิดหน่อย แต่เขาก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นตั้งแต่แรกหรอกนะ
“Phoenix ถือเป็นเอเจนท์รุ่นเก่าแก่เลย เขาปล่อยออกมาตั้งแต่ 2017 ไม่ก็ 2018 และออกมาก่อนหน้าที่จะมีคอนเซปต์เรื่องตำแหน่งเสียอีก” Bobby “excal” Prochnow นักออกแบบทางเทคนิคของเกมกล่าว “ในตอนนั้น มันอยู่ในช่วงของการเริ่มสำรวจ แบบว่าลองใส่แนวคิดตรงนี้นิดเพิ่มตรงนั้นหน่อยแล้วมาดูกันว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไรกัน”
แม้ว่า Phoenix นั้นจะถูกมองว่าเป็นตัวละครที่ต้องพึ่งพาทักษะของตนเพื่อจะเอาชนะฝ่าฟันเหล่าศัตรูไปให้ได้ แต่แนวคิดเริ่มต้นของเขานั้นได้เปลี่ยนไปมากอยู่จากทางทฤษฎีสู่ภาคปฏิบัติ
“Phoenix นั้นเริ่มต้นขึ้นจากแนวคิดของตัวละครที่สู้หลังชนฝา เป็นผู้เหลือรอดเป็นคนสุดท้ายและสามารถต่อกรได้กับสถานการณ์ทุกรูปแบบ เราได้พยายามที่จะสื่อถึงแก่นแท้นั้นที่ตอนนี้เราเรียกกันว่าช่วงเวลาสำคัญของ VALORANT ออกมา และสกิลที่เราได้คิดกันนั้นคือสกิลอัลติเมทของเขา” excal แชร์ “เราได้นึกภาพของสกิลอัลติเมทที่คุณจะได้รับชีวิตที่ 2 กลับมาในรูปแบบหนึ่ง”
“เราคิดไว้ว่าหากคุณใช้งานมันได้แล้ว เขาจะฟื้นคืนชีพและมีพลังชีวิตเหลืออยู่ 1 แต่เขาจะไม่ได้กลับมายังจุดที่เขาเริ่มใช้งานอัลติ คุณก็จะสามารถนึกภาพตอน 1 ต่อ 5 ที่คุณเหลือพลังชีวิตอยู่ 1 และหลบกระสุนที่ยิงเข้ามาได้ทั้งหมด พร้อมทั้งยิงแบบคม ๆ ปิดงานแบบสวย ๆ ดังนั้นฉันจึงได้พยายามสร้างมันขึ้นตามแนวคิดนั้น โดยคิดว่าเราจะได้เข้าถึงแฟนตาซีของผู้เหลือรอดคนสุดท้ายนี้กัน” excal ว่าต่อ
ในตอนที่ Phoenix ถูกสังหารในขณะใช้อัลติเมทในเวอร์ชันนี้ เขาจะเข้าสู่สถานะอมตะในตอนที่เขากำลังชุบชีวิต โดยที่จะยังสามารถเคลื่อนที่ได้อยู่ในขณะนั้น สรุปก็คือ คุณสามารถบุกเข้าและตายไป พร้อมด้วยการใช้อัลติเมทของเขา ฟื้นคืนชีพในช่วง 3 วินาที และยังสามารถเคลื่อนที่กลับไปยังที่กำบังได้ โดยสกิลในเวอร์ชันนี้มันได้ทำให้เกิดรูปแบบการเล่นแปลก ๆ ที่ผู้เล่น Phoenix จะพยายามที่จะหลีกเลี่ยงศัตรูที่อยู่ตามมุม ในขณะที่รักษาพื้นที่ที่พวกเขาได้รับมาเอาไว้
ทางทฤษฎีแล้ว Phoenix ที่เป็นความหวังสุดท้ายของทีมนั้นเข้ากันกับธีมของเขาเป็นอย่างดี ถือกำเนิดขึ้นใหม่จากเถ้าถ่าน เผชิญหน้ากับโอกาสพลิกเกม มอบโอกาสสุดท้ายในการคว้าชัยให้กับทีม แต่ไม่นาน ทีมตัวละครก็ได้เข้าใจรูปแบบสไตล์การเล่นของเขาและปรับเปลี่ยนบางส่วนเพื่อเปลี่ยนแปลงเขาจากเครื่องสังเวยของทีมให้กลายเป็นผู้เปิดไฟต์ให้กับทีม
คอนเซปต์สุดท้ายของ Run it Back สกิลอัลติเมทของ Phoenix
หลังจากที่ได้ทดสอบการเล่นในครั้งแรกไป สกิลอัลติเมทของ Phoenix นั้นได้ถูกออกแบบขึ้นใหม่ให้ใช้งานแบบวางแผนล่วงหน้า ในตอนนี้ ภารกิจของเขาคือการใช้งานอัลติ โดยที่รู้ตัวว่าเขาจะต้องถูกสังหารจากการบุกเข้าไซต์ สังหารมาให้ได้ และคืนชีพกลับมายังสถานที่เริ่มต้นเมื่อถูกสังหาร
“การทดสอบในช่วงต้น มันเห็นได้ชัดว่าสิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความดุดัน การเป็นตัวละครสำหรับขับเคลื่อนเกมที่ต้องการเปิดเข้าทำเป็นคนแรก แล้วผมก็คิดขึ้นได้ว่า ‘รู้อะไรไหม? มันก็ออกมาใช้ได้เลย!’ เราจึงใช้แนวคิดนั้น และสกิลนั้นก็เริ่มเข้าถึงแนวคิดนั้นขึ้นมาได้” excal กล่าว
แต่ด้วยแนวคิดของการขับเคลื่อนเกมและความเป็นกึ่ง Duelist สกิลของ Phoenix นั้นก็ยังดูแตกต่างจากที่เรารู้จักกันในตอนนี้
จากยอดนักพุ่งเป็นยอดนักแฟลช
ณ จุดนั้น ในการพัฒนาของ VALORANT ตำแหน่งต่าง ๆ นั้นยังไม่ได้กำหนดอย่างชัดเจนนัก Duelist นั้นยังไม่เกิดขึ้นมาด้วยซ้ำ แต่ทีมก็รู้ได้ว่าพวกเขาต้องการให้ Phoenix เป็นยอดนักสังหารที่พึ่งพาตนเองได้
“ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่มีคอนเซปต์ของ Duelist ขึ้นมา แต่ผมได้คิดว่าการที่ตัวละครนี้สามารถพึ่งพาตนเองได้นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญเลย และในตอนนั้นเอง เราได้สร้างความเป็นทวิลักษณ์ของตัวละครนี้ที่สามารถสร้างความเสียหายและฟื้นฟูด้วยไฟในเวลาเดียวกันขึ้นมาอีกด้วย” excal อธิบาย “เราชอบความยืดหยุ่นในส่วนนี้ สร้างกำแพงเพลิงขึ้นมา บดบังวิสัยทัศน์ และฟื้นฟูในตอนที่เขาวิ่งผ่านมัน หรือขว้าง Molly ออกไปในมุมปิดและวิ่งเข้าไป เขาจึงได้สกิลกำแพงและ Molly ไปในทันที แต่สกิลอีกสกิลที่เหลือนั้นเป็นสิ่งที่เราไม่มั่นใจว่าจะทำอย่างไรกับมันดี”
Blaze (ด้านบน) และ Hot Hands (ด้านล่าง) ที่ใช้งานบนแผนที่ในช่วงการทดสอบช่วงแรก
เอาล่ะ เรารู้ว่าคุณกำลังคิดอะไรอยู่ แน่นอนว่า นั่นคือตอนที่ Phoenix ได้สกิล Curveball ของเขามา เนื่องจากคุณจะบุกเข้าไซต์ได้อย่างไรหากปราศจากแฟลชไป? ทีมได้รู้ว่าเลยว่าพวกเขาต้องการแฟลชหรือการทำให้ศัตรูสูญเสียการมองเห็น แต่ในจุดนั้น พวกเขายังไม่ได้ตัดสินใจว่าแฟลชใน VALORANT นั้นจะทำงานอย่างไร ผู้เล่นจะสามารถซื้อและติดตั้งใช้งานระเบิดแฟลชได้เลยหรือเปล่า? หรือมันควรจะเป็นสกิลที่เอเจนท์บางคนจะมี?
และก็กลายเป็นอย่างหลัง... แต่ก็ยังไม่ได้จบเท่านั้น แทนที่จะให้สกิลแฟลชกับ Phoenix ทางทีมได้ทดสอบแนวคิดอื่นขึ้นมาในตอนแรก
นอกจากความสามารถในการเคลียร์ไซต์และการฟื้นฟูตนเอง ความคล่องตัวก็เป็นองค์ประกอบหลักอีกสิ่งหนึ่งในสกิลของผู้ที่มีคุณสมบัติในความเป็น Duelist อีกด้วย ทั้ง Jett, Reyna, Yoru, Neon และ Raze ต่างก็มีสกิลที่ใช้ในการเข้าหรือออกจากสถานการณ์คับขันได้อย่างรวดเร็ว และดั้งเดิมแล้ว นั่นก็เป็นแนวทางที่ทีมได้มุ่งไปสำหรับ Phoenix
“Phoenix นั้นเคยมีสกิลพุ่งตัวที่ต้องชาร์จพลังอยู่” excal เผย “กลไกของสกิลนั้นคือ ยิ่งคุณชาร์จนาน เขาก็จะยิ่งพุ่งไปได้ไกล เขาจะสามารถตกเป็นเป้าได้อยู่ตลอดและมันก็เป็นการเคลื่อนที่ในเส้นตรง ดังนั้นเขาจะต้องคิดให้ดีสำหรับการใช้งานในส่วนนี้”
จากคำกล่าวของทีมพัฒนาเกม มันก็เป็นเพียงแค่ช่วงเวลาก่อนที่นักออกแบบเกมอย่าง Nicholas “NickWu” Smith ได้โฉบเข้า Mid ด้วยการพุ่งตัวของเขาและสังหารมาได้แบบสวย ๆ และถึงแม้ว่ามันจะเป็นสไตล์การเล่นที่ดูสนุกดี แต่มันก็ไม่ได้ตรงกับภาพที่ทีมได้วาดไว้ให้กับ Phoenix เท่าไหร่
เรามาหยุดกันก่อนตรงนี้ ลองจินตนาการตัวคุณบนแผนที่ Haven โดยคุณเป็นฝ่ายโจมตีในตอนที่คะแนน 12-11 และอยู่ในสถานการณ์ 3 ต่อ 1 มันก็ดูเหมือนกับว่าจะสามารถพิมพ์ “gg ez” ในช่องแชทได้แล้ว แต่แล้วทีมของคุณก็เริ่มบุกเข้า C garage แล้วก็ตู้ม! โดยสอยร่วงไปเป็นคู่ เพื่อนร่วมทีมทั้ง 2 ถูกสังหารด้วย OP ผ่านทางประตูคู่ และที่ยิ่งเลวร้ายไปกว่านั้น Spike ดันตกเข้าไปในห้องอยู่ระหว่างประตูพอดีอีก อูยยย ถ้าเกิดว่ามันมีอะไรที่...
Phoenix นั้นต้องการสกิลที่จะทำให้เขามีความยืดหยุ่นในการเป็นประโยชน์ให้กับทีมได้ แทนที่จะเป็นการเข้าทำแบบจัดเต็มสู่ไซต์อย่างเดียว ดังนั้นทีมจึงได้เกิดไอเดียสุดบรรเจิดขึ้นมาเพื่อช่วยให้ Phoenix เข้าทำได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น
ระวังตาพวกนายไว้ให้ดี!
“เกมอื่น ๆ หลาย ๆ เกมมีสกิลที่ใช้ล็อกเป้าหมายได้อย่าง Overwatch และ Counter-Strike ก็ใช้การขว้างระเบิดออกไป แต่เราอยากจะไปในรูปแบบที่เหนือกว่านั้น และนั่นก็เป็นจุดกำเนิดของการปล่อยควันบนแผนที่ของลุง Brim พื้นที่เงาของ Omen และความสามารถในการเบี่ยงควันของ Jett” excal กล่าว
“โดยดั้งเดิมแล้ว แฟลชของ Phoenix นั้นมันออกมาเป็นเส้นตรง แต่ผู้เล่นก็ประสบปัญหาในการใช้อ้อมกำแพงและการปล่อยออกไปให้พ้นระยะการมองเห็นของตน เนื่องจาก VAL มีมุมให้คุณได้ปะทะกันเสมออยู่เยอะมาก มันก็ดูจะเป็นเรื่องปกติที่จะต้องการเบี่ยงมันออกไปอ้อมกำแพงให้ได้ มันได้มาจากความต้องการในด้านเกมเพลย์เหนือสิ่งอื่นใดเลย” excal เสริมเกี่ยวกับสกิล Curveball ของ Phoenix
สตอรี่บอร์ดธีมแสดงให้เห็นการใช้งานสกิล Curveball และ Blaze ของ Phoenix
และเราก็ได้บทสรุปออกมา แฟลช Molly กำแพง และการคืนชีพตนเอง แฟนตาซีเกมเพลย์ของ Phoenix ในทุกวันนี้ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาอย่างเต็มตัว และตอนนี้มันก็ขึ้นอยู่กับทีมออกแบบและงานศิลป์แล้วว่าจะสร้าง Radiant คนใหม่ออกมาเป็นอย่างไรในตอนที่เขาใช้พลังในการควบคุมเปลวเพลิงของเขา
(เกร็ดน่ารู้: คำถามทั่ว ๆ ไปที่ทีมถูกถามเข้ามาบ่อย ๆ คือ สกิล Hot Hands ของ Phoenix นั้นถูกออกแบบออกมาสำหรับ Summit1G หลังจากเหตุการณ์สุดเหวอกับระเบิดขวด (Molotov) ในตอนที่ควรจะพลิกเกมได้ในการปะทะ 1 ต่อ 1 หรือเปล่า แม้ว่า excal และทีมจะชอบแนวคิดนั้นเป็นอย่างมาก แต่ต้องขอโทษด้วยนะที่คำตอบคือ ไม่ใช่)
เวอร์ชันแรกเริ่มของ Hot Hands สกิลโปรเจคไทล์ของ Phoenix การสร้างสกิลนี้ไม่ได้พาดพิงต่อ Summit1G แต่อย่างใด
แสงจากดวงตะวัน ไม่ใช่การเผาทลายให้วอดวาย
เปลวเพลิงนั้นเป็นธีมที่มีความซับซ้อนอยู่ เมื่อลองนึกถึงตัวละครในธีมเปลวเพลิงที่คุณรู้จักในโทรทัศน์ หนัง และเกมต่าง ๆ มันก็คงจะไม่ผิดไปหากจะบอกว่าตัวละครส่วนมากจะเอนเอียงไปทางด้านความโหดเหี้ยม โดยจะไม่ค่อยมีด้านกลยุทธ์เข้ามาเกี่ยวและจะเน้นไปทางการเผาทลายให้ราบเป็นหน้ากลอง! ทีมจึงต้องการออกแบบด้วยเป้าหมายที่จะทำให้ Phoenix แตกแยกออกจากความเป็นนักวางเพลิงให้ได้
“Phoenix นั้นไม่ใช่พ่อมดแห่งเปลวเพลิง เขาไม่ได้จะแผดเผาทั้งไซต์ให้วอดวาย เขาไม่ใช่ Viper ที่ครองพลังแห่งเปลวเพลิง" excal อธิบาย “เมื่อคุณนึกถึงเปลวเพลิงในเกมอื่น ๆ มันจะเป็นการจุดเพลิงใส่ทุกอย่าง ๆ แต่เราจะใช้มันในรูปแบบที่แตกต่างออกไป เราจึงได้ทำให้มันเป็นในรูปแบบของแสงตะวันให้มากขึ้น ระเบิดแสงแห่งดวงตะวัน สุริยุปราคา มันต่างสว่างจ้าจนตามืดบอดไปเลย โดยเป้าหมายนั้นคือการทำให้เปลวเพลิงนั้นกลายเป็นสิ่งที่รู้สึกถึงเปลวเพลิงแผดเผาให้น้อยลงและดูมีการควบคุมที่มากขึ้น
สรุปก็คือให้มันมีความเร่าร้อนแบบแสงตะวัน แต่ก็พยายามเลี่ยงไม่ให้มันแผดเผาทุกสิ่งไป ได้ล่ะ อย่างที่คาดเอาไว้เลยว่าความแตกต่างในระดับนี้นั้นมันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลยที่จะนำทางให้กับทีมศิลป์ให้ได้
“จากมุมมองของด้านศิลป์แล้ว ในธีมของแสงตะวันนั้นก็มีความท้าทายแฝงอยู่ เปลวเพลิงนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจและสร้างขึ้นมาได้ง่าย ๆ” Minoh “SS_Minnow_2017” Kim ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายงานศิลป์ตัวละคร 3 มิติ “แต่แสงตะวันนั้นมันแบบว่า ให้ตายเถอะ มันเป็นเปลวเพลิงหรือเปล่านะ? หรือมันจะเป็นแสงกัน? สนามแม่เหล็กงั้นเหรอ? มันจะมีรูปร่างออกมาเป็นแบบไหนกัน? ในขณะที่เผชิญกับความท้าทาย ผมคิดว่าโดยรวมแล้วมันช่วยให้เรามุ่งเน้นให้เขามีธีมที่ดูเรียบง่ายเพียงธีมเดียวออกมาได้”
มันสามารถเห็นถึงก้อนพลังงานแสงตะวันได้ง่าย ๆ เลยในช่วงเริ่มต้นของการเรนเดอร์ Curveball
เปลวเพลิงนั้นไม่ใช่ว่าจะเข้ากันกับสกิลของ Phoenix และแรงบันดาลใจในสกิลอัลติเมทเท่านั้น แต่มันจะต้องเข้ากันกับสไตล์การเล่นและบุคลิกของเขาด้วย
John “RiotMEMEMEMEME” Goscicki ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายผลิตตัวละครจะมาอธิบายรูปแบบของการพิจารณาเหล่านั้นที่ส่งผลต่อการออกแบบของ Phoenix: “ผมคิดว่าเมื่อพูดถึงเปลวเพลิงและพลังอำนาจในส่วนนั้น อีกสิ่งที่จะต้องเสริมเข้าไปในไอเดียในตอนที่คุณเล่น Phoenix อยู่หลาย ๆ ครั้งคือการทำให้มันเป็นการเล่นที่ดูอวดดี หัวร้อน และมีความมั่นในตนเองอยู่ด้วย เหมือนกับว่าคุณกำลังทำสิ่งต่าง ๆ ที่ดูไร้สาระไปหมด ดังนั้นธีมเปลวเพลิง แสงไฟที่ส่องสว่างนั้นเข้ากันกับบุคลิกของเราเป็นอย่างดี
การปรับแต่งขัดเกลา
เมื่อพูดถึงตัวตน บุคลิก เสื้อผ้า และสัญชาติของ Phoenix นั้นล้วนเป็นประเด็นพูดคุยที่ร้อนแรงเลย (ช่างน่าเสียใจจังเลย) ในตอนที่ทีมได้เริ่มขัดเกลาในช่วงท้ายสำหรับการเปิดตัวเอเจนท์ก่อนที่จะนำเข้ามาในตัวเกม
“ในช่วงแรก ๆ ผมคิดว่าไอเดียนั้นเป็นการใส่ชุดแห่งเปลวเพลิงลงไปให้กับเขา เหมือนกับสิ่งที่ช่วยเขาในการควบคุมพลังทั้งหมดของเขาเอาไว้ได้ ในตอนแรกนั้น เขาดูเหมือนกับนักบินอวกาศเลย เป็นเอเจนท์จากโลกอนาคตกันทีเดียว หลังจากนั้น Larry “TheBravoRay” Ray หัวหน้าฝ่ายคอนเซปต์ ก็ได้เข้ามาพร้อมกับไอเดียคอนเซปต์ที่จะสร้างให้เขาเป็นพ่อหนุ่มสุดเฟี้ยว ให้ความรู้สึกเหมือนกับตัวละครสุดเท่จากเกมแนวต่อสู้ต่าง ๆ” Minoh กล่าว “และเรายังมีคนในทีมของเราที่สนใจในเรื่องของเครื่องแต่งกายแนวเทคแวร์อยู่ด้วย พวกเขาจึงได้ผลักดันไอเดียนี้มาเพราะว่ามันดูเข้ากับความเป็นกลยุทธ์ พวกเขาส่งเว็บไซต์ที่ติดตามการเคลื่อนไหวของแฟชั่นมาให้กับเรา และแน่นอนว่าความเป็นกลยุทธ์นั้นเป็นสิ่งที่เข้ากับเกมของเราได้อย่างดี แต่แบบนี้มันดูเจ๋งกว่าเยอะเลย”
“แล้วอยู่มาวันหนึ่งในเดือนเมษายน ไม่ก็พฤษภาคม 2019 เราก็ได้ทิ้งไอเดียต่าง ๆ อันมีค่าของเราสำหรับตัวละครนี้ไปหมด” Minoh เสริม “เราได้เข้าสู่ยุคสมัยของแนวทางงานศิลป์ที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง ในช่วงเวลานั้น เราได้ทิ้งคอนเซปต์เอเจนท์แรกเริ่มไปเยอะมากและได้เริ่มต้นใหม่ด้วยแนวทางและการเข้าถึงในด้านความหลากหลายในรูปแบบใหม่
อย่างแรงบันดาลใจจากวิหคเพลิงของเขา รูปร่างของ Phoenix (และภาพคอนเซปต์ต้นตำรับของเขา อุ๊ย 555) ก็ได้ถูกทำลายทิ้งไปและกลับมาเกิดใหม่อีกครั้ง Josh “LOKKEN” Smith ศิลปินคอนเซปต์ ได้เข้าถึงไอเดียริเริ่มของ TheBravoRay และใช้มันเพื่อเปลี่ยน Phoenix ให้กลายเป็นผู้จุดประกายแสงสำหรับอนาคตไป โดยการเปลี่ยนแปลงส่วนมากนั้นเกิดขึ้นในช่วงการเริ่มต้นใหม่นี้ในปี 2019
ผลงานภาพตัวละคร Phoenix จาก LOKKEN
“สรุปก็คือ ก่อนเดือนพฤษภาคม 2019 นั้น เราไม่ได้มีเอเจนท์ในแบบที่เราต้องการให้ออกมาเป็น เราจึงต้องทำมันขึ้นมาใหม่ทั้งหมด” excal กล่าว “มันเป็นการที่ลดการตัดสินใจในส่วนของ Phoenix โดยเฉพาะลง แล้วมาเพิ่มในส่วนที่ว่า ‘โอเค เราต้องการไปในแนวทางไหนดี? อะไรที่มันจะออกมาดูเหมาะสมได้? และเราจะทำให้เอเจนท์ออกมาในรูปแบบที่เรารู้สึกภูมิใจกับมันได้อย่างไร? Phoenix กลายเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น ทั้งบุคลิกและสไตล์
แนวทางภาพศิลป์รูปแบบใหม่สำหรับ Phoenix ที่ได้เปิดตัวออกมาในที่สุด ทั้งธีมแสงตะวันก็ด้วย
ความหลากหลายและการเข้าถึง ‘ความเป็นสากล’ ของ VALORANT นั้นเป็นหลักการสำคัญในการสร้างตัวเกมขึ้นมา สิ่งที่สำคัญที่สุด VALORANT นั้นมีไว้เพื่อทุก ๆ คน ทางทีมไม่เพียงแค่ต้องการให้ผู้เล่นทั้งหมด ไม่ว่าจะมีภูมิหลังแบบใดหรือมาจากที่ไหน สามารถเข้าถึงเกมนี้ได้ด้วย PC ที่สเปคไม่ต้องสูงมากและเข้าถึงได้ แต่ยังต้องการให้เข้าถึงตัวละครต่าง ๆ ในเกมอีกด้วย
แล้วจะมีเซ็ตติ้งของเกมแบบไหนที่จะดีไปกว่าโลกอีกล่ะ? เอ่ออ หรือจะต้องบอกว่า โลกทั้ง 2 ใบ ที่เอเจนท์แต่ละคนจะสามารถมีบ้านเกิดในโลกจริง ๆ ที่จะนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจได้ และเพื่อการคงความเป็นแก่นแท้เอาไว้ สำหรับเอเจนท์หลาย ๆ คนที่ปล่อยออกมาอย่าง Phoenix แรงบันดาลใจที่ได้มานั้นก็มาจากตัวผู้ให้เสียงพากย์เองเลยด้วย
“David Lyerly ผู้กำกับเสียงพากย์ และผมได้เปิดการออดิชั่นมากมายเพื่อเฟ้นหาในส่วนของบุคลิก ช่วงอายุ และส่วนอื่น ๆ อีกมากมาย” RiotMEMEMEMEME กล่าว “และเมื่อเราได้รับการตอบรับในการเปิดรับการออดิชั่นสำหรับ Phoenix เราได้ฟังเสียง Afolabi Alli และเราก็คิดขึ้นมาเลยว่า ‘คนนี้นี่ล่ะ’ เราจึงได้ตรวจสอบดูว่าเขามาจากไหน และ Zach Betka อดีตนักเขียนเรื่องราวก็ได้ช่วยปรับเรื่องราวภูมิหลังของ Phoenix ให้เข้ากันกับพื้นที่แถบนั้นแทนที่จะมุ่งเน้นไปในสิ่งหนึ่งไปเลย เราจะพยายามเลี่ยงสิ่งที่มันเจาะจงมาก ๆ จนกว่าเราจะได้ตัวนักพากย์เสียงมา”
ด้วยองค์ประกอบสุดท้ายที่ขาดหายไป เอเจนท์สุดแกร่งจากเพ็คแฮมก็พร้อมที่จะเปิดเผยตัวให้ทั่วทั้งโลกได้รู้จักกัน Phoenix นั้นเป็นเอเจนท์คนโปรดของเหล่าแฟน ๆ ในช่วงเบต้าของ VALORANT และได้กลายเป็นส่วนสำคัญของการเปิดตัวเกมด้วย DUELISTS ซีเนมาติกเรื่องราวของเกมตัวแรกอีกด้วย
แล้วเขาเป็นอย่างไรบ้างหลังจากที่ได้ปล่อยตัวออกมานานกว่า 2 ปี?
มองถึงสิ่งที่ใกล้เข้ามา
เกมยิงเชิงกลยุทธ์และเกมการแข่งขันโดยทั่วไปนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เกมเหล่านั้นจะมีเมต้าเกมที่พัฒนาอยู่ตลอดเวลา โดยที่ผู้เล่นระดับกลาง ๆ รวมทั้งระดับโปรนั้นก็จะพัฒนาสไตล์การเล่นของพวกเขาอยู่เรื่อย ๆ ดังนั้นการที่เอเจนท์บางคนหรือสกิลบางอย่างมันจะตกกระป๋องไปบ้างนั้นมันก็ไม่ใช่เรื่องแปลก และพ่อหนุ่มเปลวเพลิงคนโปรดของทุกคน ๆ เองก็ต้องเผชิญกับสิ่งนี้เช่นกัน
สำหรับผู้เล่นที่ยังจำช่วงวันแรก ๆ ของตัวเกม VALORANT ได้นั้น แฟลชของ Phoenix นั้นมันอันตรายสุด ๆ เลย ระยะเวลาก่อนการแฟลชที่ 700 มิลลิวินาทีนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหันหลบ แต่หลังจากนั้น ผู้เล่นต่างก็เริ่มเรียนรู้ตัวเกมมากขึ้น เสียงเตือนการใช้งาน Curveball และจังหวะการใช้งานโดยรวมนั้นกลายเป็นสิ่งที่สามารถคาดเดาและแก้ทางได้ง่าย ผู้เล่นสามารถหันหลบได้ง่ายยิ่งขึ้น และมันก็ไม่ได้มีความยืดหยุ่นในการใช้งานเหมือนกับสกิลแฟลชอื่น โดยเฉพาะกับแผนที่ใหม่บางแผนที่ที่กว้างขึ้น และแน่นอนว่า Curveball ของ Phoenix ก็ไม่อาจไปเทียบได้กับสกิลแฟลชต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าจาก KAY/O, Skye และ Yoru โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการเล่นในระดับสูง
Dan “penguin” Hardison นักออกแบบเกมจะมาอธิบายถึงวิธีที่ทีมของเราใช้ในการรักษาประโยชน์การใช้งานของ Phoenix เอาไว้ในขณะที่ทำให้เข้ากันกับแฟนตาซีในตัวละครของเขาเอาไว้ด้วย
“ตัวละครนี้ดูทำอะไรก็อึกทึกไปซะหมดเลย เขาควรที่จะเข้าประชันหน้ากับคุณด้วยความรวดเร็วและดุดัน และถ้าเขาทุ่มใช้งานแฟลชของเขาเพื่อที่จะไล่คุณออกจากตำแหน่งได้ มันจะต้องทรงพลังอย่างมาก มันก็จะต้องดูมีคุณค่าในการใช้งานเหนือแฟลชอื่น ๆ Phoenix นั้นต้องการสกิลที่โดดเด่นในการลงโทษเป้าหมายที่อยู่ใกล้ ๆ ที่คุณสามารถจัดการได้ด้วยตนเอง เราจึงรู้ได้ว่าเราต้องปรับแฟลชของเขาใหม่ เราได้ลดระยะเวลาก่อนการระเบิดลงและเพิ่มระยะเวลาของเอฟเฟกต์แฟลชให้อยู่นานขึ้น
แล้วนั่นทำให้จุดยืนของ Phoenix ในด้านการใช้งานเป็นอย่างไรบ้างเมื่อเทียบกับเอเจนท์คนอื่น ๆ?
“เมื่อมองจากข้อมูลในคิวโหมด Competitive Phoenix นั้นค่อนข้างแข็งแกร่งอยู่หลังจากที่ได้บัฟมา” penguin แชร์ “เขายังคงมีปัญหาในเรื่องของระยะในการใช้งานแฟลชอยู่เมื่อเทียบเอเจนท์บางคนอย่าง Skye แต่นั่นก็ถือเป็นสิ่งที่ดีแล้ว สำหรับ Duelist แล้ว แฟลชของเขานั้นมันหลบได้ยากมาก ๆ พูดได้ว่าหลบยากเกินไปเลยทีเดียว”
ก็ตามสิ่งที่เขาได้พูดไว้ล่ะนะ “ได้เวลาเอาจริงแล้ว พวกนายไม่รอดแล้ว!”